วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ประวัติ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เกิดในครอบครัวคนจีนยากจนที่กรุงเทพมหานครในย่านตรอกจันทน์ เขตยานนาวา เขาไม่ทราบแม้วันเกิดที่แท้จริงของตัวเอง บิดามารดาเป็นคนจีนกวางตุ้ง เดินทางมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ สมัยเด็กอยู่บ้านหลังคามุงจาก พ่อเป็นช่างก่อสร้าง หาเช้ากินค่ำ ความเป็นอยู่ลำบากมาก ของขวัญวันเกิดที่วิเศษมากสำหรับเขาคือได้กินบะหมี่หนึ่งชาม

ดร.นิเวศน์มีพี่น้องสามคน โดยตัวเองเป็นคนสุดท้อง และเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ได้เรียนหนังสือ เด็กชายนิเวศน์เริ่มเรียนหนังสือที่ “โรงเรียนวัดดอน” (วัดที่ร่ำลือไปทั่วประเทศว่ามีป่าช้าผีดุมาก คือ “ป่าช้าวัดดอน” นั่นเอง) จนถึง ป.7 แล้วมาศึกษาต่อมัธยมศึกษาที่ รร.วัดสุทธิวราราม จนถึง ม.3 ก่อนจะสอบเข้า ม.ปลาย ที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา

สมัยเด็ก เขาเคยทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ โดยซื้อหมากฝรั่งหนึ่งแถวราคา 7.50 บาท เอามาขายปลีก ขายจนหมดทั้งแถวได้เงิน 11 บาท แล้วเอาไปซื้อขนมอื่นๆ จากตลาดน้อยมาขายเพิ่ม (คล้ายกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ซื้อโค้กหนึ่งแพ็คมาขายปลีกยังไงยังงั้น)

ดร.นิเวศน์เป็นคนเรียนดีมาโดยตลอด วิชาที่เขาชอบมากคือคณิตศาสตร์และเรขาคณิต แม้จะเรียนเก่ง แต่เขาไม่สนใจที่จะเรียนแพทย์ เพราะไม่ชอบวิชาชีววิทยา และรู้สึกว่าอาชีพหมอใช้เวลาเรียนนานเกิน เนื่องจากตัวเขาฐานะยากจน จึงอยากเรียนจบเร็วๆ เพื่อออกมาทำงานหาเงินใช้มากกว่า ทำให้ตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเครื่องกล

ระหว่างเรียนที่จุฬาฯ ดร.นิเวศน์ทำกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย สร้างฝายเก็บน้ำ ทำห้องสมุดให้กับเด็กยากไร้ ฯลฯ ซึ่งทำให้เขาได้เห็นโลกในมุมมองที่กว้างขวางขึ้น เขาบอกว่า ประสบการณ์ชีวิตสมัยเรียนปริญญาตรี มีส่วนสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมให้เขาเป็นตัวเขาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

หลังจากเรียนจบ งานแรกของ ดร.นิเวศน์ คือทำงานที่โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด เหตุผลที่เลือกงานดังกล่าวเพราะมี OT ทำให้ได้เงินเดือนเพิ่มเกือบสองเท่า ทั้งยังกินอยู่ฟรี หลังจากทำงานได้สองปี ดร.นิเวศน์ ได้มาเรียนต่อปริญญาโทที่นิด้า สาขาการตลาด จากการชักชวนของ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เพื่อนสนิท

พอจบโทได้สองปี ดร.นิเวศน์จึงลาออกจากงานที่โรงงานน้ำตาล เพื่อตาม ดร.ไพบูลย์ ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ณ University of Mississippi โดยต้องสอบโทเฟลถึงสองรอบจึงผ่าน เนื่องจากไม่เก่งภาษาอังกฤษ

ครั้นจบปริญญาเอก ได้เป็นด็อกเตอร์ เขาจึงกลับมาเมืองไทย และเข้าสู่แวดวงการเงินเป็นครั้งแรก โดยไปทำงานที่ IFCT ก่อนจะย้ายไปทำงานที่นวธนกิจ เมื่อนวธรกิจปิดกิจการจึงไปเป็นที่ปรึกษาของดีแทค และไปทำงานที่ธนาคารนครหลวงไทยเป็นที่สุดท้าย

ดร.นิเวศน์เริ่ม “เล่นหุ้น” ในปี 2539 ระหว่างทำงานที่นวธรกิจ โดยใช้วิธีเก็งกำไร ซื้อๆ ขายๆ เหมือนนักลงทุนทั่วไป ก่อนจะเบนเข็มมาศึกษาแนวทาง “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” โดยอ่านคัมภีร์ของกูรูระดับโลกมากมายหลายเล่ม ที่สำคัญคือหนังสือ “The Intelligent Investor” ของเบนจามิน เกรแฮม ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับที่จุดประกายให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สนใจการลงทุน เช่นเดียวกับ ดร.นิเวศน์เองที่ตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ตลอดมา

ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ดร.นิเวศน์ได้ใช้แนวทาง Value Investment เข้าไปเก็บหุ้นไทยในภาวะที่หุ้นทั้งตลาดราคาถูกมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยเงินต้น “10 ล้านบาท” ที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานประจำมาตลอดชีวิต ก่อนจะใช้เวลาสิบปี ทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจนมีมูลค่ากว่า “1,000 ล้านบาท” !!

นอกจากการเป็นนักลงทุนแล้ว ในปี 2541 เขายังได้เขียนหนังสือชื่อ “ตีแตก” ซึ่งเป็นเรื่องราวของโอกาสและความเป็นไปได้เพื่อประยุกต์ใช้กับการลงทุน และกลายเป็นหนังสือการลงทุนยอดนิยมของเมืองไทยมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ เขายังมีผลงานหนังสืออีกหลายเล่ม และจัดรายการโทรทัศน์ – วิทยุ ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

ดร.นิเวศน์ บอกว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เลือกเส้นทางเดินนี้ก็เพราะเขาได้ค้นพบตัวเองแล้วว่าชีวิตของเขาจะต้องเป็น “นักลงทุน” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขาบอกว่าตนเองได้รู้เป้าหมายของชีวิตอย่างชัดเจน จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่นำตัวเองไปมุ่งสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยจะไม่ “แวะข้างทาง” ให้เสียเวลาอีกต่อไป

ทุกวันนี้ แม้จะไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่จากการคิดคำนวณของ VI ไทยหลายคน คาดกันว่าพอร์ตการลงทุนของ ดร.นิเวศน์ มีค่าร่วม 1,500 ล้าน หรืออาจจะเกิน 2,000 ล้านบาท เอาเฉพาะเงินปันผลของเขาแต่ละปี ก็เกินกว่าเงินต้น 10 ล้านบาทที่เริ่มลงทุนไปหลายต่อหลายเท่า

คุณูปการของ ดร.นิเวศน์ ประการหนึ่งซึ่งประเมินค่าไม่ได้สำหรับแวดวงการลงทุนไทยก็คือ เขาเป็นผู้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงในประเทศนี้ และลบล้างความเชื่อที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่สามารถใช้การลงทุนแบบเน้นพื้นฐานออกไปได้อย่างถาวร

ทุกวันนี้ หลายคนขนานนาม ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ว่าเป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย” แต่ที่แน่ๆ เขาคือ “ต้นแบบของวีไอไทย” ตัวจริงเสียงจริง ชนิดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น